REGULATIONS

ข้อบังคับสมาคมความสัมพันธ์ไทย–แอฟริกา

หมวดที่ 1 ความทั่วไป

ข้อ 1    สมาคมนี้มีชื่อว่า สมาคมความสัมพันธ์ไทย–แอฟริกา  ชื่อย่อ “ส.ส.ท.อ” ภาษาอังกฤษ THE ASSOCIATION OF THAI-AFRICA RELATIONS    ชื่อย่อ “ATAR”

ข้อ 2    เครื่องหมายของสมาคมมีลักษณะเป็นรูปวงกลม ภายในมีภาพสัญลักษณ์ทวีปแอฟริกาและสัญลักษณ์มือจับมือ พร้อมข้อความชื่อสมาคมทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งหมายถึงการตกลงเชื่อมความสัมพันธ์ของประเทศไทยและประเทศในทวีปแอฟริกา

ข้อ 3    สำนักงานของสมาคมตั้งอยู่ ณ บ้านเลขที่ 248/59  ซอยกาญจนาภิเษก 0015 แขวงศาลาธรรมสพณ์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ 10170

ข้อ 4    วัตถุประสงค์ของสมาคม เพื่อ

4.1 สร้างความสัมพันธ์   แลกเปลี่ยนข้อมูลและข่าวสาร สร้างกิจกรรมร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันระหว่างชาวไทยและชาวแอฟริกันที่อยู่ในประเทศไทย

4.2 ศึกษาค้นคว้า และรวบรวมข้อมูล เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีระหว่างชาวไทยและชาวแอฟริกัน      

4.3 สมาคมไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองแต่อย่างใด

หมวดที่ 2 สมาชิก

ข้อ 5    สมาชิกของสมาคมมี 2 ประเภท คือ

5.1 สมาชิกสามัญ ได้แก่ บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ที่มีความสนใจในวัตถุประสงค์ของสมาคมและเข้าร่วมในกิจกรรมของสมาคม

5.2 สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลผู้ทรงเกียรติ หรือ ทรงคุณวุฒิ หรือผู้มีอุปการคุณแก่สมาคมซึ่งคณะกรรมการลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม

ข้อ 6    สมาชิกจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

6.1     กรณีเป็นบุคคลธรรมดา (ไทยหรือต่างชาติ) ต้องเป็นผู้บรรลุนิติภาวะ กรณีเป็นนิติบุคคล ต้องได้รับการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลโดยถูกต้องตามกฎหมายไทย

6.2     เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย

6.3     ไม่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ

6.4     ไม่ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลายหรือไร้ความสามารถ หรือ เสมือนไร้ความสามารถ หรือต้องโทษจำคุก ยกเว้นความผิดฐานประมาท หรือลหุโทษ การต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดในกรณีดังกล่าวจะต้องเป็นในขณะที่สมัครเข้าเป็นสมาชิก หรือในระหว่างที่เป็นสมาชิกของสมาคมเท่านั้น

ข้อ 7    ค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงสมาคม

7.1     สมาชิกสามัญ ประเภทบุคคลธรรมดา จะต้องเสียค่าลงทะเบียนครั้งแรก 200 บาท และ ค่าบำรุงเป็นรายปีๆ ละ 200 บาท (ค่าสมัครสมาชิกตลอดชีพ 2,000 บาท)

7.2     สมาชิกสามัญ ประเภทนิติบุคคล จะต้องเสียค่าลงทะเบียนครั้งแรก 10,000 บาท และ ค่าบำรุงเป็นรายปีๆ ละ 2,000 บาท (ค่าสมัครสมาชิกตลอดชีพ 20,000 บาท)

7.3     สมาชิกกิตติมศักดิ์ มิต้องเสียค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ข้อ 8    การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม กระทำโดยให้ผู้ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมยื่นใบสมัครตามแบบของสมาคมต่อเลขาธิการ โดยมีสมาชิกสามัญรับรองอย่างน้อย 1 คน เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการหรือกรรมการที่คณะกรรมการมอบหมายเพื่อพิจารณาอนุมัติว่า จะรับเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมหรือไม่

ข้อ 9    ในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ให้ผู้สมัครนั้นชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมโดยสมาชิกภาพของผู้สมัคร ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้สมัครได้ชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคม เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าผู้สมัครไม่ได้รับอนุมัติให้เข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ให้ถือว่าการสมัครคราวนั้นเป็นอันยกเลิก และให้ เลขาธิการ คืนเงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมที่ผู้สมัครนั้นได้ชำระไว้ดังกล่าวโดยพลัน

ข้อ 10  สมาชิกภาพของสมาชิกกิตติมศักดิ์ให้นับตั้งแต่วันที่หนังสือตอบรับคำเชิญของผู้ที่คณะกรรมการได้พิจารณาลงมติ ให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาชิกของสมาคม ได้มาถึงยังสมาคม

ข้อ 11  สมาชิกภาพของสมาชิกรวมถึงสมาชิกกิตติมศักดิ์ให้สิ้นสุดลงด้วยเหตุดังต่อไปนี้

11.1   ตาย หรือ สิ้นสภาพนิติบุคคล

11.2   ลาออก โดยยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการ และคณะกรรมการได้พิจารณาอนุมัติ

11.3   ขาดคุณสมบัติสมาชิก

11.4   ที่ประชุมใหญ่ของสมาคม หรือคณะกรรมการได้พิจารณาลงมติให้ลบชื่อออกจากทะเบียนเพราะสมาชิกผู้นั้น ได้ประพฤตินำความเสื่อมเสียมาสู่สมาคม

11.5   ไม่ชำระค่าบำรุงติดต่อกัน 2 ปี

ข้อ 12  สิทธิและหน้าที่สมาชิกรวมถึงสมาชิกกิตติมศักดิ์

12.1   มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของสมาคมต่อคณะกรรมการ

12.2   มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ของสมาคม

12.3   สมาชิกมีสิทธิออกเสียงลงมติต่างๆ ในที่ประชุมใหญ่ได้คนละ 1 คะแนนเสียง

12.4   มีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อย 1 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมดร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญได้

12.5   มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติ และข้อบังคับของสมาคมโดยเคร่งครัด

12.6   มีหน้าที่ประพฤติตนให้สมกับเกียรติที่เป็นสมาชิกของสมาคม

12.7   มีหน้าที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินการต่างๆ ของสมาคม

12.8 มีหน้าที่ร่วมกิจกรรมที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น

12.9 มีหน้าที่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของสมาคมให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

หมวดที่ 3 การดำเนินกิจการสมาคม

ข้อ 13  ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งทำหน้าที่บริหารกิจการของสมาคมมีจำนวนอย่างน้อย 11คน อย่างมากไม่เกิน 20คน โดยให้นายกสมาคมมาจากการเลือกตั้งและเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสมาคมได้ครึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด และให้มีคณะกรรมการบริหารสมาคมอีกครึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งตำแหน่งและหน้าที่ของกรรมการบริหารสมาคมโดยสังเขป มีดังต่อไปนี้

13.1 นายกสมาคม  ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการของสมาคม เป็นผู้แทนสมาคมในการติดต่อกับบุคคลภายนอกและทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการและการประชุมใหญ่ของสมาคม

13.2 อุปนายก  แต่งตั้งโดยนายก ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกสมาคมในการบริหารกิจการสมาคมปฏิบัติตามหน้าที่นายกสมาคมได้มอบหมายและทำหน้าที่แทนนายกสมาคม เมื่อนายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่การทำหน้าที่แทนนายกสมาคม ให้อุปนายกตามลำดับตำแหน่งเป็นผู้กระทำการแทน

13.3 เลขาธิการ   แต่งตั้งโดยนายก ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของสมาคมทั้งหมดเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ของสมาคมในการปฏิบัติกิจการของสมาคมและปฏิบัติตามคำสั่งของนายกสมาคม ตลอดจนทำหน้าที่เป็นเลขานุการในการประชุมต่างๆ ของสมาคม

13.4 เหรัญญิก  แต่งตั้งโดยนายก มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินทั้งหมดของสมาคม เป็นผู้จัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย บัญชีงบดุลของสมาคม และเก็บเอกสารหลักฐานต่างๆของสมาคมไว้เพื่อตรวจสอบ

13.5 ปฏิคม   แต่งตั้งโดยนายก มีหน้าที่ในการให้การต้อนรับแขกของสมาคม เป็นหัวหน้าในการจัดเตรียมสถานที่ของสมาคมและจัดเตรียมสถานที่ประชุมต่างๆของสมาคม

13.6 นายทะเบียน  แต่งตั้งโดยนายก มีหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนสมาชิกทั้งหมดของสมาคมประสานงานกับเหรัญญิกในการเรียกเก็บเงินค่าบำรุงสมาคมจากสมาชิก

13.7 ประชาสัมพันธ์      แต่งตั้งโดยนายก มีหน้าที่เผยแพร่กิจการและชื่อเสียงเกียรติคุณของสมาคมให้สมาชิกและบุคคลโดยทั่วไปให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย

13.8 กรรมการตำแหน่งอื่นๆ   ตามความเหมาะสมซึ่งนายกและ/หรือคณะกรรมการเห็นสมควรกำหนดให้มีขึ้นโดยมีจำนวนเมื่อรวมกับตำแหน่งกรรมการตามข้างต้นแล้วจะต้องไม่เกินจำนวนที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้ แต่ถ้าคณะกรรมการมิได้กำหนดตำแหน่ง ให้ถือว่าเป็นกรรมการกลาง

13.9 รองเลขาธิการและผู้ช่วยเลขาธิการ  แต่งตั้งโดยนายก เพื่อช่วยทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของสมาคมทั้งหมดและเป็นผู้ช่วยเลขาธิการในการประชุมต่างๆ ของสมาคม

ข้อ 14  คณะกรรมการของสมาคมสามารถอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ 4 ปี และเมื่อคณะกรรมการอยู่ในตำแหน่งครบกำหนดตามวาระแล้วแต่คณะกรรมการชุดใหม่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการให้คณะกรรมการที่ครบกำหนดตามวาระรักษาการไปพลางก่อน จนกว่าคณะกรรมการชุดใหม่จะได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้ทำการส่งและมอบงานกันระหว่างคณะกรรมการชุดเก่าและคณะกรรมการชุดใหม่ที่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ

ข้อ 15  ตำแหน่งกรรมการสมาคม ถ้าต้องว่างลงก่อนครบกำหนดตามวาระให้คณะกรรมการเสนอแต่งตั้งสมาชิกสามัญคนใดคนหนึ่งที่เห็นสมควรเข้าดำรงตำแหน่งที่ว่างลงนั้นแต่ผู้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ ในตำแหน่งได้เท่ากับวาระของผู้ที่ตนแทนเท่านั้นเพื่อความต่อเนื่องของการปฏิบัติงาน

ข้อ 16  กรรมการอาจจะพ้นตำแหน่งจากตำแหน่ง ซึ่งมิใช่เป็นการออกตามวาระด้วยเหตุผลต่อไปนี้ คือ

16.1   ตาย

16.2   ลาออก

16.3   ขาดจากสมาชิกภาพ

16.4   คณะกรรมการมีมติให้ออกจากตำแหน่ง

ข้อ 17  กรรมการที่ประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งกรรมการให้ยื่นใบลาออกเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อเลขาธิการและให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะกรรมการมีมติให้ออก

ข้อ 18  อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการ

18.1   มีอำนาจออกระเบียบปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้สมาชิกได้ปฏิบัติโดยระเบียบปฏิบัตินั้นจะต้องไม่ขัดต่อข้อบังคับฉบับนี้

18.2   มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ของสมาคม

18.3   มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษาหรืออนุกรรมการได้ แต่กรรมการที่ปรึกษาหรืออนุกรรมการจะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินวาระของคณะกรรมการที่แต่งตั้ง

18.4   มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปีและประชุมใหญ่วิสามัญ

18.5   มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการในตำแหน่งอื่นๆ ที่ยังมิได้กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้

18.6   มีอำนาจบริหารกิจการของสมาคม เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตลอดจนมีอำนาจอื่นๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้

18.7   มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในกิจการทั้งหมด รวมทั้งการเงินทรัพย์สินทั้งหมดของสมาคมและการออกระเบียบเกี่ยวกับรายรับ-รายจ่ายของสมาคม

18.8   มีหน้าที่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ตามที่สมาชิกจำนวน 1 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมดได้เข้าชื่อร้องขอให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญขึ้น ซึ่งการนี้จะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ

18.9   มีหน้าที่จัดทำเอกสารหลักฐานต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวกับการเงิน ทรัพย์สินและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของสมาคม

18.10  จัดทำบันทึกการประชุมต่างๆ ของสมาคม เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน

18.11  มีหน้าที่อื่นๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้

ข้อ 19  คณะกรรมการจะประชุมกันอย่างน้อย 4 ครั้งต่อปี หรือตามที่นายกสมาคมเห็นเหมาะสมทั้งนี้เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการบริหารกิจการของสมาคม

ข้อ 20  การประชุมคณะกรรมการ จะต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดจึงจะถือว่าครบองค์ประชุมมติของที่ประชุมคณะกรรมการ ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้ถือคะแนนเสียงมากเป็นเกณฑ์แต่ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ 21  ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ให้กรรมการที่เข้าประชุมในคราวนั้นเลือกตั้งกันเอง เพื่อให้กรรมการคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น

หมวดที่ 4 การประชุมใหญ่

ข้อ 22  การประชุมใหญ่ของสมาคม 2 ชนิด คือ

22.1 ประชุมใหญ่สามัญ

22.2 ประชุมใหญ่วิสามัญ

ข้อ 23  คณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีๆ ละ 1 ครั้ง ไม่เกินเดือนมีนาคมของทุกปี

ข้อ 24  การประชุมใหญ่วิสามัญอาจจะมีขึ้นได้โดยเหตุที่คณะกรรมการเห็นควรจัดให้มีขึ้น

ข้อ 25  การแจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้เลขาธิการเป็นผู้แจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้สมาชิกได้ทราบและการแจ้งจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุวัน เวลา และสถานที่ให้ชัดเจน โดยจะต้องแจ้งให้สมาชิกได้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน และประกาศแจ้งกำหนดนัดประชุมไว้ ณ สำนักงานของสมาคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนถึงกำหนดการประชุมใหญ่

ข้อ 26  ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีหรือวิสามัญ มีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด หรือ ไม่น้อยกว่า 30 คน จึงจะถือเป็นครบองค์ประชุม ยกเว้น ถ้าเป็นการประชุมใหญ่วิสามัญที่เกิดขึ้นจากการร้องขอของสมาชิก ถ้าสมาชิกที่ร้องขอเข้าร่วมประชุมไม่ถึงครึ่งหนึ่งไม่ต้องจัดประชุมใหญ่ ให้ถือว่าการประชุม เป็นอันยกเลิก

                ในการประชุมใหญ่ครั้งใด ถ้าไม่ได้องค์ประชุมตามที่กำหนดไว้และการประชุมใหญ่นั้นได้เรียกตามคำร้องขอของสมาชิก ก็ให้งดการประชุม แต่ถ้าเป็นการประชุมใหญ่ที่สมาชิกมิได้เป็นผู้ร้องขอให้คณะกรรมการของสมาคมเรียกประชุมใหญ่อีกครั้งโดยจัดให้มีการประชุมขึ้นภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรก การประชุมครั้งหลังนี้ไม่บังคับว่าจำต้องครบองค์ประชุม

ข้อ 27  การลงมติต่างๆ ในที่ประชุมใหญ่ ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงที่ลงมติมีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ 28  ในการประชุมใหญ่ของสมาคม ถ้านายกสมาคม และอุปนายกสมาคมไม่มาร่วมประชุมหรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมใหญ่ทำการเลือกตั้งกรรมการที่มาร่วมประชุมคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น

หมวดที่ 5 การเงินและทรัพย์สิน

ข้อ 29  การเงินและทรัพย์สินทั้งหมดให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการ เงินสดของสมาคม ถ้ามี ให้นำฝากไว้ในธนาคาร โดยให้เปิดบัญชีเงินฝากของสมาคมที่ธนาคารใดธนาคารหนึ่ง หรือ หลายธนาคารตามที่คณะกรรมการกำหนด

ข้อ 30  การอนุมัติจ่ายเงินอยู่ในอำนาจของนายกสมาคม หรืออุปนายกสมาคม กรณีนายกสมาคมไม่อยู่ ทั้งนี้การลงนามในตั๋วเงินหรือเช็คของสมาคม จะต้องมีลายมือชื่อของเหรัญญิกเป็นผู้ลงนามร่วมกับนายกสมาคม หรืออุปนายกสมาคม หรือเลขานุการ คนใดคนหนึ่งพร้อมกับประทับตราของสมาคมจึงจะถือว่าใช้ได้

ข้อ 31  ให้นายกสมาคมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินของสมาคมได้ครั้งละไม่เกิน 300,000 บาท (สามแสนบาท) โดยให้เหรัญญิก หรือเลขาธิการเป็นผู้เสนอให้นายกสมาคมสั่งจ่ายเงินจำนวนดังกล่าว ถ้าจำเป็นต้องจ่ายมากกว่านี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมและคณะกรรมการบริหารสมาคม

ข้อ 32  ให้เหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินสดของสมาคมได้ไม่เกิน 50,000 บาท (ห้าหมื่นบาท) ถ้าเกินกว่าจำนวนนี้ จะต้องนำฝากธนาคารในบัญชีของสมาคมทันทีที่โอกาสอำนวยให้

ข้อ 33  ให้เหรัญญิกมีอำนาจสั่งจ่ายเงินได้ครั้งละไม่เกิน 20,000 บาท (สองหมื่นบาท) เพื่อเป็นค่าใช้สอยหรือค่าสาธารณูปโภคของสำนักงาน

ข้อ 34  เหรัญญิกจะต้องทำบัญชีรายรับ รายจ่ายและบัญชีงบดุลให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยการรับหรือจ่ายเงินทุกครั้งจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของนายกสมาคม หรือผู้ทำการแทนร่วมกับเหรัญญิกหรือผู้ทำการแทนพร้อมกับประทับตราของสมาคมทุกครั้ง และเสนอให้นายกสมาคมทราบทุก 3 เดือน

ข้อ 35  ผู้สอบบัญชีจะต้องมิใช่กรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมและจะต้องเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต

ข้อ 36  ผู้สอบบัญชีมีอำนาจหน้าที่จะเรียกเอกสารที่เกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินจาก คณะกรรมการและสามารถจะสอบถามกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมเกี่ยวกับบัญชีและทรัพย์สินของสมาคมได้

ข้อ 37  คณะกรรมการจะต้องให้ความร่วมมือกับผู้สอบบัญชี เมื่อได้รับการร้องขอ

หมวดที่ 6 การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับและการเลิกสมาคม

ข้อ 38  ข้อบังคับของสมาคมจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่เท่านั้น และองค์ประชุมใหญ่จะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด มติของที่ประชุมใหญ่ในการให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับ จะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด

ข้อ 39  การเลิกสมาคมจะเลิกได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาคม ยกเว้นเป็นการเลิกเพราะเหตุของกฎหมาย มติของที่ประชุมใหญ่ที่ให้เลิกสมาคม จะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด และองค์ประชุมใหญ่จะต้องไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด

ข้อ 40  เมื่อสมาคมต้องเลิกไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ก็ตามทรัพย์สินของสมาคมที่เหลืออยู่หลังจากที่ได้ชำระบัญชีเป็นที่เรียบร้อยแล้วให้ทรัพย์สินที่เหลือตกเป็นของสมาคมหรือมูลนิธิหรือนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการสาธารณกุศลตามมติของที่ประชุมใหญ่

หมวดที่ 7 บทเฉพาะกาล

ข้อ 41  ข้อบังคับฉบับนี้ ให้เริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่สมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเป็นต้นไป

ข้อ 42  เมื่อสมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจากทางราชการ ให้ถือว่าผู้เริ่มการทั้งหมด เป็นสมาชิกสามัญและให้สมาชิกภาพของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นเริ่มตั้งแต่วันจดทะเบียนเป็นต้นไป